
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร? วันนี้เรามีคำตอบ!
บทความนี้เราได้รวบรวมทุกประเด็นสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้คุณศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลภาษีนี้และเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังตามมา วันนี้ กฏหมายภาษี จะพามาดู
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร?

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันก่อนดีกว่าซึ่งเป็นกฎหมายที่มาแทนกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและกฎหมายว่าด้วยภาษีบํารุงท้องที่ โดยกฎหมายฉบับใหม่มีจุดมุ่งหมายในการช่วยลดความเลื่อมล้ำในสังคมและเพิ่มการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. จะเป็นผู้จัดเก็บภาษีโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จริง ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับ อปท. เพื่อนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่นในด้านสังคมอื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังสามารถลดการถือครองที่ดินเพื่อการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ภาษีประเภทใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะนำมาใช้จัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน โดยรายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดจะเป็นของ อปท. เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินหรือรายได้ของรัฐบาล
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องนำมาจัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 เป็นกฎหมายที่ออกมานานมากแล้ว ทำให้การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่เริ่มมีปัญหาและมีข้อจำกัดเกี่ยวกับฐานภาษี อัตราภาษี และการลดหย่อนภาษีที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ทำให้ อปท. มีรายได้ไม่เพียงพอในการพัฒนาท้องถิ่นทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนเพิ่มเติมนั่นเอง
ประโยชน์ของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

- ลดความเหลื่อมล้ำ โดยผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูงกว่าก็จะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำกว่าทำให้เกิดความเป็นธรรมและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้
- เพิ่มประสิทธิภาพโดยลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการประเมินภาษี และยังช่วยกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอย่างมีคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังช่วยลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไรอีกด้วย
- ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ อปท. โดยรายได้เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการลงทุนและจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้นไปอีก
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยไปกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่มีการตรวจสอบการดำเนินงานของ อปท. ว่ามีการเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมหรือไม่ รวมไปถึงยังติดตามการใช้จ่ายเงินภาษีซึ่งเก็บภาษีจากประชาชนในพื้นที่ ไปพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น
แหล่งที่มา: https://www.trebs.ac.th/th/news_detail.php?nid=117