
เทคนิคในการวางแผนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา
อย่างที่เราทราบว่าบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัท เจ้าของธุรกิจส่วนตัวที่ไม่เป็นนิติบุคคล หรืออาชีพอิสระ หากว่ามีรายได้ตามที่กฎหมายกำหนดต้องเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ ทั้งเงินรายได้การหักค่าใช้จ่าย การหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ จึงทำให้มีการวางแผนเพื่อทำให้ภาระภาษีลดลงกลยุทธ์การทำให้ภาษีลดน้อยลงมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ความเป็นจริงแล้วล้วนมาจากหลักการเดียวกันทั้งสิ้น โดยมีโครงสร้างดังต่อไปนี้ กฏหมายภาษี
สูตรการคำนวณภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีที่รัฐกำหนด
สูตรคำนวณหาเงินได้สุทธิ = เงินได้พึ่งประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อนและเงินบริจาคต่าง ๆ
ซึ่งเงินได้สุทธินั้นมีที่มาจากการนำรายได้ทั้งหมดมารวมกัน พร้อมหาค่าลดหย่อนต่าง ๆ (เช่น ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน) และนำมาหักออกจากรายได้ทั้งหมด เหลือเท่าไรคือเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันได
หากต้องการให้ภาษีที่ต้องชำระนั้นน้อยลงมี 3 วิธีคือ
1. ลดจำนวนเงินได้ให้น้อยลง

การที่จะทำให้เงินได้นั้นน้อยลงมีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธีดังนี้
1.1 หักรายได้ที่ได้รับยกเว้น รายได้หลายอย่างนั้นกฎหมายได้ให้สิทธิ์ในการยกเว้นภาษีเอาไว้ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ เงินบำนาญตกทอด เงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล เป็นต้น
1.2 หักรายได้จากการหักภาษี ณ ที่จ่ายและเป็นประเภทสุดท้ายหรือที่เราเรียกกันว่า “Final Tax” เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผลเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้มุ่งหวังทางการค้าหรือหากำไร เป็นต้น
1.3 แยกรายได้ที่มาจากต่างประเทศ หากว่าเรามีรายได้ที่มาจากต่างประเทศ ต้องวางแผนการลดหย่อนภาษีให้ดี
1.4 เลือกลงทุนประเภทที่ยกเว้นภาษี โดยเรานำเงินรายได้นั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือออมเงินประเภทที่รัฐบาลกำหนดยกเว้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดแล้ว ก็ยังได้รับผลตอบแทน โดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ด้วย
2. เพิ่มการหักค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น

การเพิ่มค่าใช้จ่ายให้มากยิ่งขึ้นก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ภาษีลดลงเช่นกัน เพราะเมื่อมีค่าใช้จ่ายมากเงินสุทธิก็จะน้อยตามเมื่อนำไปคำนวณตามอัตราก็ต้องน้อยตามนั้นไปด้วย แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องทำไปตามช่องทางที่กฎหมายกำหนดอย่างถูกต้องด้วย เช่น
2.1 จัดสรรเงินได้ไปอยู่ประเภทที่หักค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะแต่ละประเภทนั้นมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นเราควรนำรายได้ของเราไปอยู่ในประเกทที่หักค่าใช้จ่ายมากที่สุด จึงจะทำให้ภาระภาษีนั้นลดน้อยลง
2.2 แยกรายได้จากหลายอาชีพ ตามปกติแล้วพนักงานรายเดือนก็มีสิทธิ์หักค่าใช้จ่ายสูงสุดถึงร้อยละ 40 แต่ไม่เกินกว่า 60,000 บาท อยู่แล้วแต่หากว่ายังเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพไปพร้อมกันอีก เช่นเป็นเจ้าของร้าน เป็นช่างรับเหมา หรือนักเขียนก็สามารถเอารายได้ส่วนต่าง ๆ นั้นไปแยกหักค่าใช้จ่ายได้อีก ทำให้ยอดค่าใช้จ่ายนั้นมีมากขึ้นและภาษีก็จะน้อยตาม
3. เพิ่มการหักค่าลดหย่อนและเงินบริจาคให้สูงขึ้น

ค่าลดหย่อนและเงินบริจาคนับว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ลดภาษีได้โดยตรงและเป็นจำนวนมาก เพราะค่าลดหย่อนและเงินบริจาคนั้นจะถูกนำไปหักลบจากเงินได้พึ่งประเมิน หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งหากเราวางแผนให้ดีรับรองว่าเงินได้พึ่งประเมินจะลดลงไป โดยจะยกตัวอย่างให้เห็นดังนี้
3.1 ศึกษาเกี่ยวกับสิทธิ์ลดหย่อนและใช้ให้มากที่สุด เป็นวิธีที่คนส่วนมากใช้กัน โดยส่วนมากจะเป็นการลดหย่อนบุตร การทำประกันการดูแลพ่อแม่ เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการลงทุนต่าง ๆ ที่ลดหย่อนได้
3.2 การบริจาคเงินให้แก่วัด โบสถ์ องค์กรการกุศล และอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยขอหลักฐานอย่างใบอนุโมทนาหรือใบเสร็จไว้ด้วย เพื่อจะนำไปประกอบการยื่น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเทคนิคอย่างคร่าว ๆ ซึ่งยังมีวิธีการอีกมากมายที่ยังไม่ได้พูดถึง อีกทั้งยังสามารถนำเทคนิคดังกล่าวไปดัดแปลงเป็นกลยุทธ์ลดภาษีแบบอื่น ๆ อีกมากมาย สิ่งที่ควรตระหนักเป็นอย่างยิ่งก่อนวางแผนก็คือ เราควรที่จะศึกษาข้อกฎหมายอย่างละเอียด ก่อนตัดสินใจวางแผนควรทำด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง
