ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่คนทั่วไปต้องจ่ายให้กับรัฐ เมื่อมีเงินได้ก็ต้องเสียภาษี แต่จะทำอย่างไรให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำที่สุด หลักการง่าย ๆ คือ กระจายเงินได้ ลดหย่อนภาษี และระบุประเภทรายได้ให้เสียภาษีน้อยที่สุด เป็นต้น
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษาอังกฤษใช้คำว่า PROGRESSIVE RATE คำว่าอัตราก้าวหน้าฟังดูแล้วรู้สึกดีเหมือนถ้าเสียภาษีแล้วจะก้าวหน้า แต่น่าจะเรียกอัตราขูดรีดมากกว่า แล้วเราควรวางแผนต่อไปอย่างไรดี มาดูกันเลย

ทำอย่างไรให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่ต่ำที่สุด
1. การกระจายเงินได้
วิธีการกระจายเงินได้ทำได้ 2 ลักษณะหลัก ๆ ได้แก่
- การหาคนมาช่วยรับเงิน แบบนี้ก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง ตัวอย่างเช่น ทำงาน 4 คนค่าจ้าง 2 ล้านบาท แทนที่จะรับคนเดียว 2 ล้าน อาจจะเจรจากับผู้จ้างว่าให้จ่าย 4 คน คนละ 500,000
- การกระจายงวดการรับเงิน เช่น มีเงิน 2 ล้าน แทนที่จะรับครั้งเดียว อาจเปลี่ยนเป็นรับเงิน 2 ครั้ง เช่น ถ้ารับเงินช่วงเดือนธันวาคม อาจขอให้จ่าย 1 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม และอีก 1 ล้านไปจ่ายในเดือนมกราคม แบบนี้ก็จะช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลง
ในอดีตคนที่รับรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนจะมีเทคนิคในการกระจายรายได้คือการจดคณะบุคคล แต่ปัจจุบันกรมสรรพากรได้ทำการจำกัดการจดคณะบุคคลทำให้ไม่สามารถที่จะใช้ได้อย่างง่าย ๆ จึงจำเป็นต้องศึกษาเทคนิคอื่น ๆ ในการวางแผนภาษีต่อไป

2. เพิ่มค่าลดหย่อน
ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายอยู่เป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และที่มักจะพูดถึงกันมาก คือ ประกันชีวิต และ กองทุน ซึ่งเป็นการลดหย่อนภาษีเต็ม ๆ นอกจากนั้นก็มีเรื่องของดอกเบี้ยผ่อนบ้าน การเลี้ยงดูบุพการี เงินบริจาค เป็นต้น รายละเอียดเหล่านี้สามารถหาศึกษาได้ทั่ว ๆ ไป นอกจากค่าลดหย่อนทั่ว ๆ ไปแล้ว หากรายได้ของคุณเป็นงานพวกรับเหมา คุณสามารถหารายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำมาลงเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มค่าลดหย่อนได้ด้วย เช่น หากรับเหมาก่อสร้าง ค่าแรงคนงานสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ แต่ต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าคนงานคนนี้ ได้มารับเงินจากเราไปจำนวนเงินเท่าไหร่
ระบุประเภทรายได้ให้เสียภาษีน้อยที่สุด
หากถามว่าอาชีพไหนเสียภาษีสูงที่สุดก็ต้องตอบว่ามนุษย์เงินเดือนเป็นอาชีพที่เสียภาษีสูงที่สุด ดังนั้นเมื่อไหร่ที่คุณมีรายได้ จำไว้ว่าต้องไม่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง รายได้คนเรามีหลายประเภท เช่น

เงินเดือน ค่าจ้าง ดอกเบี้ย เงินปันผล วิชาชีพอิสระ รับเหมา ขนส่งเกษตรกร จริง ๆ มีมากกว่านี้ครับ ซึ่งเราควรได้ศึกษาประเภทรายได้ต่าง ๆ ว่ามีวิธีการเสียภาษีอย่างไร และพยายามปรับเงื่อนไขรายได้ของเราให้เข้าสู่รายได้ประเภทนั้น ๆ โดยดูว่ารายได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ ยิ่งรายได้นั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูง ก็จะทำให้เงินได้สุทธิลดลงก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง
ตัวอย่าง
- หากเราขายข้าวเปลือกหรือข้าวสาร สมมติขายได้ 1 ล้านบาท ถ้าเป็นอาชีพขายสินค้าที่มิได้ผลิตเอง คุณจะมีเงินได้สุทธิ 200,000 บาท แต่หากคุณบอกว่าคุณเป็นเกษตรกร คุณจะมีเงินได้สุทธิ 150,000 บาท จะเสียภาษีน้อยลง
- หากมีคนจ้างคุณให้ขับรถส่งของ แล้วมีเงินได้ 500,000 บาท ถ้าเป็นค่าจ้างมีเงินได้ 410,000 บาท แต่ถ้าเป็นรับจ้างขนส่งเงินได้สุทธิจะเหลือแค่ 100,000 บาท
- ถ้าคุณรับจ้างพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สมมติถ้ารายได้ 1.5 ล้านบาท ถ้าเป็นค่าจ้างจะมีเงินได้สุทธิ 1.4 ล้าน บาท เสียภาษีประมาณสองแสนห้า
- แต่หากเป็นงานรับเหมาจะมีเงินได้สุทธิแค่ 450,000 เสียภาษีแค่สามหมื่นบาท
จากตัวอย่างก่อนจะมีรายได้หากเราได้ลองศึกษาเรื่องภาษีและพยายามที่จะดันเงื่อนไขการรับเงินเข้าสู่รายได้ให้ถูกประเภทแล้ว คุณจะเสียภาษีน้อยลงมาก เรื่องเงื่อนไขการรับเงินนี้มักจะเป็นปัญหากับสรรพากรมาก เพราะการระบุประเภทรายได้นั้นไม่มีกฎระเบียบเงื่อนไขที่แน่นอน เรื่องนี้คงต้องอาศัยความสามารถในการเจรจาต่อรอง อย่างไรก็ดีในการระบุประเภทรายได้ให้ระวังอีกเรื่องหนึ่งคืออาชีพบางประเภทหากรายได้เกิน 1.8 ล้านต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ด้วย ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นจุดอ่อนให้สรรพากรรีดภาษีจากเราได้อีก ดังนั้นการรับรายได้ถ้าคอยระวังอย่าให้เกิน 1.8 ล้านจะดีที่สุด
ที่มา : www.slawconsult.com