
ทำความรู้จักกับภาษีเงินได้ชาวต่างชาติ
บทความนี้จะมานำเสนอภาษีเงินได้ชาวต่างชาติ เนื่องจากปัจจุบันนี้มีชาวต่างชาติมากมายที่ทำมาหากินอยู่ในเมืองไทย พร้อมกับคำถามว่าต้องเสียภาษีอย่างไร สำหรับประเทศไทยได้จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้หลักแหล่งเงินได้และหลักถิ่นที่อยู่ ตามนัยมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร กฏหมายภาษี จะสามารถสรุปได้ดังนี้
ภาษีเงินได้ชาวต่างชาติเป็นอย่างไร
1. มาจากหลักแหล่งเงินได้มาจาก 4 แหล่งใหญ่

– เงินได้จากงานที่ทำในประเทศไทย สำหรับผู้ที่มีเงินได้ปฏิบัติงานในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น บริษัทในอเมริกา ส่งนายซีเป็นพนักงานเข้ามาปฏิบัติงานในไทย นายซีต้องนำเงินเดือนค่าจ้างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานในไทยมายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย แต่นายซีอาจจะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย หากเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขยกเว้นภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน
– เงินได้จากกิจการที่ทำในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น นายเอ็กซ์เปิดร้านขายอาหารในประเทศไทย นายเอ็กซ์ต้องนำเงินได้ที่เกิดขึ้น มายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

– เงินได้จากกิจการนายจ้างในไทย เป็นผู้ที่ได้รับเงินอาจจะปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทย หรือต่างประเทศก็ได้ ตัวอย่างเช่น บริษัทรวยจำกัด เป็นบริษัทตามกฎหมายไทย ได้ส่ง นายเอเป็นพนักงานของบริษัท ไปปฏิบัติงาน ณ สาขาของบริษัทที่ประเทศอังกฤษ โดยบริษัทรวยจำกัด เป็นผู้จ่ายเงินได้ให้ทุกเดือน นายเอพนักงานต้องนำเงินได้มายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย
– เงินได้จากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย เป็นเรื่องของเงินที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าเจ้าของทรัพย์สินจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างชาติ ตัวอย่างเช่น ค่าเช่าบ้าน ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล เป็นต้น
สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ หากมีเงินได้จากแหล่งเงินได้ข้างต้น ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ และจะได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม แต่กฎหมายบังคับให้จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้น
2. มาจากหลักถิ่นที่อยู่จะเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อครบเงื่อนไข 3 ข้อ

– สำหรับผู้มีเงินได้มีเงินได้จากงานที่ทำในต่างประเทศ หรือจากกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
– สำหรับผู้ที่ได้นำเงินที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น
– สำหรับผู้มีเงินได้นั้นอยู่อาศัยในประเทศไทยถึง 180 วัน
สรุปได้ว่าไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ หากมีเงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยได้นำเงินที่เกิดขึ้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น และได้อาศัยอยู่ในเมืองไทยถึง 180 วัน จะต้องนำเงินนั้นมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ แต่ถ้าหากกรณีที่ไม่ครบเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา ผู้ที่มีเงินได้นั้นก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด