
ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท โดยมีกรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่ดูแลการจัดเก็บ มีไว้เพื่อให้ผู้บริโภครับภาระภาษีสูงกว่าปกติ สินค้าและบริการมีลักษณะฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากภาครัฐ หรือเป็นสินค้าที่บริโภคแล้วมีผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี หรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดภาระต่อรัฐบาลในการที่จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค หรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วมีสินค้าและบริการใดบ้างที่เราจะต้องเสียภาษีสรรพสามิต วันนี้ กฏหมายภาษี.com จะมาแนะนำ

สินค้าและบริการใดบ้างที่เราจะต้องเสียภาษีสรรพสามิต
ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ในปี พ.ศ.2560 กำหนดว่าสินค้าและบริการที่ต้องดำเนินการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ได้แก่
- น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
- เครื่องดื่ม
- เครื่องใช้ไฟฟ้า
- แบตเตอรี่
- แก้วและเครื่องแก้ว
- รถยนต์
- รถจักรยานยนต์
- เรือยอชต์ และยานพาหนะทางน้ำที่ใช้เพื่อความสำราญ
- น้ำหอม
- พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่น(เฉพาะที่ทำด้วยขนสัตว์)
- หินอ่อน หินแกรนิต
- สินค้าสารทำลายชั้นบรรยากาศ
- สุรา
- ยาสูบ
- ไพ่
- กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ
- กิจการเสี่ยงโชค เช่น สนามแข่งม้าและการออกสลากกินแบ่ง เป็นต้น
- กิจการที่ได้รับอนุญาตหรือสัมปทานจากรัฐ ได้แก่ กิจการโทรคมนาคม เป็นต้น

ผู้ที่มีหน้าในการชำระภาษี
ผู้คนดังต่อไปนี้เป็นผูที่มีหน้าที่ในการเสียภาษีสรรพสามิต
- ผู้ผลิต
- ผู้นำเข้าสินค้า
- ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ หรือสถานที่สำหรับประกอบกิจการในด้านการบริการ
- บุคคลอื่นที่พระราชบัญญัติกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี
การคำนวณภาษี
ในการคำนวณภาษีจะถูกคิดตามมูลค่าหรือตามปริมาณของสินค้า หรือการบริการ อีกทั้งตามมูลค่าและปริมาณของสินค้าหรือบริการนั้น แต่ไม่เกินอัตราที่ระบุไว้ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- การคำนวณภาษีตามมูลค่า ให้ถือตามมูลค่าดังนี้
กรณีสินค้า ถือตามราคาขายปลีกแนะนำ(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ประกอบด้วย ราคาต้นทุนการผลิต ค่าบริหารจัดการและกำไรมาตรฐานซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าราคาขายต่อผู้บริโภครายสุดท้ายในตลาดปกติ
กรณีบริการ ถือตามรายรับของสถานบริการ โดยให้อธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของสถานบริการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
- การคำนวณภาษีตามปริมาณ ให้ถือตามหน่วย ตามน้ำหนักสุทธิหรือตามปริมาณสุทธิของสินค้านั้น โดยคำนวณจาก ปริมาณสินค้าคูณด้วยอัตราภาษีสรรพสามิต
ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการผลิต นำเข้าสินค้า หรือการให้บริการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีสรรพสามิตที่กล่าวมาข้างต้นนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หรือติดต่อขอคำแนะนำปรึกษาจากหน่วยงานกรมสรรพสามิต เพื่อที่เราจะสามารถทำกิจการทั้งหมดได้อย่างไม่ผิดกฏหมาย และเราก็จะไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจของเรานั้นเรากำลังทำตามกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ อีกต่อไป