
“ภาษีมรดก” วางแผนยังไงให้สบายใจทั้งครอบครัว
ถ้าพูดเราพูดถึงเรื่องภาษีมรดกแสดงว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องการที่คนในครอบครัวของเราเสียชีวิตแน่ ๆ ถูกไหมครับ และแน่นอนว่าเราไม่สามารถรู้วันตายของเราหรือใครก็ตามได้ ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้เตรียมตัวหรือวางแผนกัน ปล่อยให้เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ตัวเองเสียชีวิตลงและมรดกได้ถูกแจกจ่ายไปยังทายาทแล้ว ยิ่งถ้าเกิดว่ามรดกนั้นมีมูลค่ามากก็จะยิ่งเกิดภาระทางภาษีแก่ผู้รับมรดกมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน วันนี้คุณเตรียมแผนไว้ดีแค่ไหนแล้วในการรับมือกับภาษีมรดก วันนี้ กฏหมายภาษี จะพามาดู
ขั้นตอนแรกของการวางแผนภาษีมรดกคือ “ทำบัญชีทรัพย์สินอยู่เสมอ”

เพื่อให้เรารู้ถึงสถานะทางการเงินของตนเองว่าเราพอมีทรัพย์สินอะไรบ้าง แล้วทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่ พร้อมทั้งวางแผนจัดสรรว่าส่วนใดที่จะนำไว้ใช้ในช่วงของบั้นปลายชีวิต และส่วนใดที่จะต้องนำไปวางแผนมรดกเพื่อส่งต่อให้ลูกให้หลาน โดยทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษีมรดก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ หลักทรัพย์ตามกฎหมาย เงินฝาก และทรัพย์สินทางการเงิน เป็นต้น
ขั้นตอนสอง “ศึกษาภาษีมรดกและภาษีจากการให้”
เพื่อวางแผนให้เกิดประโยชน์ในการให้มรดกอย่างสูงสุดเราจำเป็นต้องศึกษากฎหมายภาษีมรดกและภาษีจากการให้ให้มีความเข้าใจมากที่สุด
- ภาษีมรดก เกิดขึ้นเมื่อมีการเสียชีวิตของเจ้าของมรดกนั้นและส่งต่อทรัพย์สินไปตามพินัยกรรม ซึ่งทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษีมรดกจะเสียเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตรา 10% สำหรับผู้รับมรดกที่เป็นบุคคลธรรมดา เช่น ผู้รับตามพินัยกรรม หรือในอัตรา 5% เมื่อผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือทายาท โดยถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้คำนวณจากราคาประเมิน ส่วนหลักทรัพย์ให้คำนวณจากราคาปิดตลาด ณ วันโอน
- ภาษีจากการให้ เกิดขึ้นเมื่อของเจ้าของมรดกได้มอบทรัพย์สินในขณะที่มีชีวิตอยู่ให้กับทายาทหรือครอบครัว ซึ่งการให้ดังกล่าวจะแบ่งเป็นประเภทสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ โดยส่วนเกินของมูลค่าที่กฎหมายกำหนดจะต้องนำมาคำนวณภาษีด้วยเช่นกัน
ขั้นตอนสาม “วางแผนการมอบมรดก” ที่จะมีผลต่อภาษีมรดก

การทยอยในการส่งมอบทรัพย์สินในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมและไม่ทำให้เสียภาษีมากจนเกินไป เช่น ครอบครัวมีมรดก 40 ล้านบาทและมีทายาท 1 คน ก็สามารถทยอยมอบให้ปีละ 20 ล้านบาท จำนวน 2 ปี ก็จะไม่เสียภาษีจากส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สินที่จะให้เป็นมรดก ทั้งนี้ ในการวางแผนมรดกควรพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ ไม่ควรให้มรดกชิ้นเดียวกันกับทายาทหลาย ๆ คนเพราะอาจจะเกิดปัญหาระหว่างทายาทตามมาได้ รวมทั้งไม่ควรรีบ มอบมรดกเพราะกลัวการจ่ายภาษีจนเราเกิดความลำบากเมื่อทรัพย์สินถูกแจกจ่ายไปแล้ว
ขั้นตอนที่สี่ “ส่งต่อมรดก” ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับภาษีมรดก
หากมีมรดกจำนวนมากและไม่สามารถทยอยมอบให้ในเร็ววันได้ ก็ควรเปลี่ยนทรัพย์สินที่เสียภาษีมรดกเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การทำประกันชีวิตเพื่อรับสินไหมมรณกรรม โดยระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์เป็นทายาทที่เราต้องการมอบทรัพย์สินก้อนสุดท้ายไว้ให้นั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับการวางแผนทั้ง 4 ขั้นตอนที่ผู้เขียนได้ไปรวบรวมมาให้ เอาเป็นว่าน่าจะพอเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนได้ไม่มากก็น้อยครับ
แหล่งที่มา: https://www.set.or.th/set/financialplanning/lifeevent.do?name=lifeevent_detail_postretire-9&innerMenuId=47