กฎหมายควรรู้ การครอบครองปรปักษ์คืออะไร

by taxlaw
0 comment
การครอบครองปรปักษ์

กฎหมายควรรู้ การครอบครองปรปักษ์คืออะไร

กฎหมายควรรู้ การครอบครองปรปักษ์คืออะไร ถือเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นบทความนี้ กฏหมายภาษี จะพาผู้อ่านมาศึกษาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์กัน

การครอบครองปรปักษ์คืออะไร และมีหลักเกณฑ์อย่างไร

เป็นหลักกฎหมายที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน เดิมด้วยเจตนาที่จะทำให้การซื้อขายที่ไม่ถูกต้องตามแบบ เมื่อผู้ซื้อมีการครอบครองทรัพย์ และปฏิบัติครบหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว ก็จะได้กรรมสิทธิ์ไป โดยจะมีความบกพร่องเรื่องแบบพิธีในการซื้อขาย ในยุคต่อ ๆ มา การครอบครองปรปักษ์กลายเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้คนใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ปล่อยให้รกร้างไม่ดูแล ไม่เช่นนั้นผู้เข้าใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ก็จะได้กรรมสิทธิ์ไป

สรุปการแย่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง มีได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ สำหรับการครอบครองปรปักษ์อสังหาริมทรัพย์มีหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ได้แก่ ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของผู้อื่น, โดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ, ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี (5 ปี สำหรับสังหาริมทรัพย์)

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์อสังหาริมทรัพย์

  1. สำหรับการครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น โฉนด โฉนดตราจอง 
  2. การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ทรัพย์ของตนเองไม่สามารถอ้างได้
  3. การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ผู้ครอบครองไม่จำเป็นต้องทราบว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น อาจเข้าใจว่าเป็นของตนเองก็ได้
  4. การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ คือ ต้องใช้สอยทรัพย์นั้นอย่างเดียวกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นเข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์นั้น และต้องไม่เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิหรือยอมรับสิทธิของบุคคลอื่น เช่น 
  • การที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินตามสัญญาซื้อขาย เป็นการครอบครองแทนผู้ขายจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์
  • การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองที่ดินมรดกทั้งหมด เป็นการครอบครองแทนทายาททุกคน ต้องมีการบอกกล่าวต่อทายาทอื่น ๆ ก่อนว่าเจตนายึดถือเพื่อตนจึงจะเริ่มนับว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ได้
  • การครอบครองที่ดินโดยเจ้าของที่ดินอนุญาตให้อยู่อาศัยไม่ได้กรรมสิทธิ์
  • เจ้าของรวมคนหนึ่งครอบครองที่ดินถือว่าครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่น ๆ
  1. ถ้ามีการโอนกรรมสิทธิ์ในระหว่างที่ครอบครองปรปักษ์ยังไม่ครบ 10 ปี และผู้รับโอนได้กรรมสิทธิ์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มีผลทำให้การครอบครองปรปักษ์ก่อนหน้านี้สิ้นผลไป ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่
  2. ต้องเป็นการครอบครองโดยสงบ ไม่ว่าจะเป็น ไม่ได้ถูกฟ้องคดี และต้องเปิดเผย คือ ไม่ได้หลบ ๆ ซ่อน ๆ แต่แสดงออกต่อบุคคลทั่วไปโดยเปิดเผย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น และเป็นกฎหมายที่มีมานาน และมีข้อพิพาทเรื่องนี้มาก คำพิพากษาศาลฎีกาก็มีอยู่มากมาย มีแง่มุมให้ศึกษาอย่างหลากหลาย แต่ปัจจุบัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมที่พัฒนาไปมาก ที่ดินที่รกร้างว่างเปล่านั้นแทบไม่มีแล้ว

You may also like

Leave a Comment