
กฎหมายเกี่ยวกับกัญชง ไม่ใช่กัญชา
เชื่อว่ามาถึงตอนนี้ยังมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับกัญชง บทความนี้จะพามาเคลียร์ให้ชัด ถึงความแตกต่าง จะเป็นอย่างไร กฏหมายภาษี บอกเลยว่าอย่ารอช้ามาดูกันได้เลย
กัญชงคืออะไร
กัญชง (Hemp) คือพืชชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูล Cannabis sativa L ที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับกัญชา (Marijuana) แต่เป็นพืชที่ปลูกและโตง่าย โตได้ไว สภาพอากาศแบบไหนก็โตได้ ไม่ต้องการน้ำมาก ดินก็ไม่จำเป็นต้องดี ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโตทั้งสิ้น เป็นพืชที่ถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาก
กัญชงและกัญชาแตกต่างกันอย่างไร

กัญชา (Marijuana) ลำต้นมีความสูงไม่ถึง 2 เมตร ลักษณะเป็นปล้องหรือข้อสั้น แตกกิ่งก้านมากและแตกกิ่งเป็นแบบสลับ ใบสีเขียดจัด มีประมาณ 5 – 7 แฉก การเรียงตัวชิดติดกัน เมื่อนำใบมาสูบจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง มีสารมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท
กัญชง (Hemp) ลำต้นมีความสูงมากกว่า 2 เมตร มีปล้องหรือข้อที่ยาว แตกกิ่งก้านน้อยและแตกกิ่งไปในทิศทางเดียวกัน ใบเป็นสีเขียวอ่อน หรือเขียวอมเหลือง แยกเป็นแฉกประมาณ 7 – 11 แฉก การเรียงตัวห่างกัน เมื่อนำใบมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย มีคุณสมบัติเหมือนยาแก้อักเสบ หรือพวกยาปฏิชีวนะต่าง ๆ ไม่มีสารกระตุ้นระบบประสาท
ดังนั้นกัญชงต่างจากกัญชาทั้งในด้านลักษณะภายนอก ปริมาณสารสำคัญและประโยชน์ทางการใช้งาน
ประโยชน์ของกัญชงมีอะไรบ้าง

1. ประโยชน์จากเส้นใย มีคุณภาพสูง จึงเป็นประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม, เยื่อกระดาษ, เชือกต่าง ๆ คุณสมบัติของเส้นใยมีความแข็งแรงกว่าฝ้ายถึง 2 เท่า
2. ประโยชน์จากเมล็ด มีโปรตีนสูง สามารถใช้ทำผลิตภัณฑ์ทดแทนถั่วเหลืองได้ นอกจากนี้น้ำมันในเมล็ดยังมี Omega-3 น้ำมันคุณภาพที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
3. กัญชงที่เน้นให้สาร CBD สูง เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มรักษาสิว และเครื่องสำอาง
กฎหมายเกี่ยวกับกัญชงมีอะไรบ้าง

เมื่อ พ.ศ. 2522 กำหนดให้กัญชง (Hemp) เป็นพืชเสพติดประเภท 5 ตามพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ
เมื่อ พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชประสงค์ให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูก เพื่อใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายในตลาดส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้จากงานหัตถกรรม
เมื่อ พ.ศ. 2548 กำหนดมาตรการพัฒนาและส่งเสริมให้ผลิตเป็นรายได้เสริมแก่เกษตรกรรายย่อยหน่วยงานต่าง ๆ
เมื่อ 29 มกราคม พ.ศ. 2564 อนุญาตให้ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป สามารถขออนุญาตปลูกได้ทุกวัตถุประสงค์ ครอบคลุมตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของไปแปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่มได้
การปลูกสำหรับประชาชนครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่ และต้องเป็นไปตามกฎหมาย